การถ่ายภาพมาโคร MACRO PHOTOGRAPHY (FOTOINFO)
การถ่ายภาพมาโคร เป็นการถ่ายภาพเพียงไม่กี่แบบที่ใช้หลักการพื้นฐานการถ่ายภาพที่แตกต่างออกไปจากการถ่ายภาพปกติ เลนส์ต้องออกแบบมาพิเศษ ความเข้าใจเรื่องระยะชัดแตกต่างออกไป และยังมีอัตราการเสียแสงอีก แต่มันไม่ได้ยากและน่าเบื่อขนาดนั้น กลับกันอาจหลงรักมันเหมือนกับนักถ่ายภาพอีกหลายคนที่ติดใจกับเสน่ห์ของโลกการถ่ายภาพมาโคร
การถ่ายภาพมาโคร หมายถึง การถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็ก ๆ ด้วยเลนส์ หรืออุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีกำลังขยายมากกว่าหรือเท่ากับ 1:1 เป็นการแบ่งแยกด้วยกำลังในการถ่ายภาพ กำลังขยาย 1:1 หมายความว่า ขนาดภาพบนเซ็นเซอร์รับภาพหรือฟิล์ม มีขนาดเท่ากับขนาดวัตถุจริง หากถ่ายภาพด้วยกำลังขยายต่ำกว่านี้เรียกว่า การถ่ายภาพ โคลสอัพ แต่เราก็มักจะเรียกรวม ๆ กันว่า การถ่ายภาพมาโคร
ดังนั้น อุปกรณ์หรือเลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพมาโครจึงต้องถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อ ให้มีความสามารถในการโฟกัสในระยะใกล้มากๆได้ เลนส์มาโคร คืออุปกรณ์ชิ้นสำคัญสำหรับการถ่ายภาพมาโคร เลนส์จะถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ และมีกำลังขยายสูงสุดที่ 1:1 มีเพียงเลนส์บางตัวเท่านั้นที่มีกำลังขยายมากกว่านี้ ถ้าหากต้องการกำลังขยายที่สูงกว่านี้จะต้องใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริม
สำหรับ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ถ่ายภาพมาโคร คือ กล้องและเลนส์ ในที่นี้จะพูดถึงกล้อง SLR เป็นหลัก การเลือกใช้เลนส์ให้เหมาะสมกับการใช้งานเป็นเทคนิคขั้นแรกที่สำคัญในการถ่าย ภาพ หากขนาดของวัตถุมีขนาดค่อนข้างใหญ่ก็จะง่ายต่อการเลือกใช้เลนส์ ซับเจกต์บางอย่างแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าถ่ายมาเดี่ยวๆ ด้วยกำลังขยายสูงก็อาจดูไม่น่าสนใจ อย่าเช่น ดอกไม้ดอกเล็ก ๆ ถ่ายภาพมาเป็นกลุ่มอาจดูน่าสนใจมากกว่า ดังนั้น เลนส์เทเลก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเลนส์มาโครในการถ่ายภาพลักษณะนี้
แน่นอนว่าถ้าต้องการความคมชัดสูง กำลังขยายสูง เลนส์มาโครคืออุปกรณ์ที่จะขาดไปเสียไม่ได้ แต่การจะได้กำลังขยายสูงๆ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเลนส์มาโครเท่านั้น เพราะมีอุปกรณ์เสริม ซึ่งเป็นทางเลือกให้ใช้งานร่วมกับเลนส์ทั่วไปแล้วได้กำลังขยายที่สูงขึ้น
ระบบการถ่ายภาพมาโครในกล้องดิจิตอลคอมแพคถือเป็นของแถมอันล้ำค่า หากเป็นกล้องฟิลม์คอมแพค การถ่ายภาพมาโครนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ด้วยความสามารถในการโฟกัสใกล้ๆ เมื่อใช้เลนส์มุมกว้าง มันจึงเป็นระบบการถ่ายภาพแบบไวด์มาโคร ที่ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาก มีความคมชัดที่น่าพอใจและแสดงถึงฉากหลังได้ดี
การวัดแสง
เมื่อใช้ระบบวัดแสงจากตัวกล้องซึ่งเป็นระบบวัดแสงแบบสะท้อนที่ผ่านเลนส์เข้ามา อาจจะไม่ดูซับซ้อนนัก เพราะเพียงแค่กดปุ่มชัดเตอร์ลงครึ่งหนึ่งกล้องก็วัดแสง ค่าแสงที่ปรากฎเป็นค่าแสงที่คู่แสงถึงค่าแสงที่หายไปจากการถ่ายภาพในระยะใกล้ จากนั้นก็ชดเชยแสงตามค่าการสะท้อนของสี หรือชดเชยแสงไปในทิศทางที่ต้องการ
แต่ถ้าหากใช้ระบบวัดแสงแบบตกกระทบ ซึ่งใช้ในเครื่องวัดแสงแบบมือถือ แยกออกนอกตัวกล้อง หรือใช้การคำนวณแฟลชแบบแมนนวลจะต้องชดเชยแสงให้กับการเสียแสงด้วย เป็นทฤษฎีเรื่องแสง เนื่องจากการถ่ายภาพระยะใกล้กำลังขยายสูง แสงจะเดินทางและสะท้อนภายในกระบอกเลนส์ ค่าแสงจะลดลงราว 2 สตอป เมื่อถ่ายภาพที่กำลังขยาย 1:1 และประมาณราว 1 สตอป เมื่อถ่ายภาพที่กำลังขาย 1:2
เมื่อถ่ายภาพด้วยกำลังขยายมากขึ้น ก็จะเสียแสงมากขึ้นตามไปด้วย กล้องบางรุ่นบางยี่ห้องแสดงระดับค่าแสงโดยแสดงค่าขนาดรูรับแสงที่ปรับลดลงไป ให้โดยอัตโนมัติ
การจัดองค์ประกอบภาพ
งานถ่ายภาพมาโครจัดเป็นการถ่ายภาพเฉพาะทาง มีหลักคิดที่ใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพและการนำเสนอไม่มากนัก ประการแรกคือ ต้องการถ่ายภาพเพื่อแสดงให้เห็นถึงวัตถุที่มีขนาดเล็ก คมชัดและขยายใหญ่ขึ้น ด้วยมุมมองแบบ Magnification Eye ด้วยความแตกต่างของการมองที่ผิดแผกไปจากปกติ ความแปลกตาที่เราไม่ได้เห็นวัตถุ หรือภาพเหล่านี้ในระยะใกล้กำลังขยายมาก ภาพจึงดูน่าสนใจ
ประการที่สองคือ เราต้องการถ่ายภาพวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เพื่อการใช้งานในด้านใดด้านหนึ่ง งานที่ต้องการใช้การถ่ายภาพมาโครเป็นประจำคือ การถ่ายภาพวัตถุที่มีความสำคัญ เช่น การถ่ายภาพเครื่องประดับ เพชร พลอย ต่าง ๆ หรือแม้แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ขนาดเล็ก ๆ งานเหล่านี้เป็นงานถ่ายภาพเชิงธุรกิจที่ใช้การถ่ายภาพมาโคร การถ่ายภาพพระเครื่อง ปลาสวยงาม เป็นตัวอย่างงานถ่ายภาพมาโครที่ใกล้ตัว นักถ่ายภาพหลายท่านมีรายได้จำนวนไม่น้อยกับการถ่ายภาพงานเหล่านี้
อีกงานหนึ่งที่เป็นตัวอย่างในการใช้การถ่ายภาพมาโคร คือการถ่ายภาพในงานเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีทั้งการถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายภาพแบบปกติ อย่างเช่น การถ่ายภาพดอกไม้ แมลง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก และการถ่ายภาพผ่านกล้องกำลังขยายสูงมาก ๆ อย่างกล้องจุลทรรศน์ กล้องสเตอริโอแบบสองตา หรือแม้แต่การถ่ายภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอนที่ใช้ถ่ายภาพจุลชีพ
ในทางการแพทย์ก็มีการถ่ายภาพผิวหนัง ถ่ายภาพฟันในช่องปาก ซึ่งอาจจะไกลตัวสำหรับนักถ่ายภาพทั่วไป การจัดองค์ประกอบภาพสำหรับงานถ่ายภาพแบบนี้มักเน้นที่ความคมชัดของวัตถุที่ ต้องการถ่ายภาพ เน้นความสำคัญที่รายละเอียดของรูปร่าง สัดส่วน ลักษณะพื้นผิว และมองเห็นในมุมที่ต้องการเป็นสำคัญ การจัดองค์ประกอบภาพจึงมักวางตำแหน่งไว้กลางภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดและนำไปใช้งานอื่นต่อไปได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การเลือกมุมมอง การควบคุมระยะชัด การเลือกฉากหลัง จะไม่เป็นกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับนักถ่ายภาพและจุดประสงค์ในการนำภาพนั้นไปใช้งาน
สำหรับการวางตำแหน่งจุดเด่นในภาพ ลวดลาย สีสันของซับเจกต์ ฉากหลัง และการควบคุมระยะชัดที่พอเหมาะคือ หลักง่าย ๆ ในการถ่ายภาพมาโคร และความสำคัญของสิ่งที่เราถ่ายภาพจะเป็นตัวส่งเสริมให้ภาพมีคุณค่ามากยิ่ง ขึ้น
การควบคุมระยะชัด
การถ่ายภาพมาโครนั้นมีผลของระยะชัดที่แตกต่างไปจากการถ่ายภาพทั่วไป ด้วยเลนส์ตัวเดียวกันซึ่งอาจจะเป็นมาโครหรือไม่ก็ได้ หากทดลองถ่ายภาพในระยะห่างปกติโดยใช้ขนาดรูรับแสง f/11-16 ระยะชัดของภาพอาจครอบคลุมได้ไกลจนถึงระยะอนันต์ แต่เมื่อนำเลนส์ตัวเดียวกันนี้มาถ่ายภาพในระยะใกล้ ถ่ายภาพมาโครที่กำลังขยาย 1:1 ระยะชัดของภาพเมื่อใช้ขนาดรูรับแสง f/11-16 ระยะชัดของภาพอาจครอบคลุมเพียงระยะ 2-3 มิลลิเมตรเท่านั้น เพราะฉะนั้น การควบคุมระยะชัดของการถ่ายภาพมาโครจึงมีความสำคัญมาก การเลือกใช้ขนาดรูรับแสงให้เหมาะสม ครอบคลุมระยะชัดที่ต้องการ และต้องไม่ลืมว่าขนาดของรูรับแสงนอกจากจะมีผลต่อระยะชัดของซับเจกต์แล้วยัง มีผลต่อการควบคุมฉากหลังด้วย โดยปกตินักถ่ายภาพส่วนใหญ่มักเลือกใช้ขนาดรูรับแสงแคบๆ f/8 ขึ้นไป เพื่อให้ได้ระยะชัดลึก แต่หากเลือกใช้ค่าขนาดรูรับแสงที่ f/4-8 กับการถ่ายภาพในสภาพแสงธรรมชาติก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีไม่น้อย
สำหรับการใช้งานกับกล้องแบบ APS-C ซึ่งมีระยะชัดที่สุงกว่ากล้องแบบฟูลเฟรม ถ้าหากใช้แฟลชในการถ่ายจะแตกต่างไปจากนี้ ต้องปรับปฃให้รูรับแสงแคบลงกว่านี้ เพราะถ้าโฟกัสไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้ถูกต้องเข้าโฟกัสแล้ว ภาพจะคมชัดและมีระยะตามขนาดรูรับแสงที่เลือกใช้ ส่วนการโฟกัสผิดตำแหน่ง แม้จะเพียงเล็กน้อยแล้วคิดจะใช้รูรับแสงแคบคุมระยะชัดให้ได้ภาพที่คมชัดนั้น อย่างไรเสีย ภาพก็ยังจะดูไม่คมชัดอยู่ดี
ทั้งนี้การโฟกัสให้เข้าตำแหน่งที่ต้องการสำคัญมาก ระยะชัดนี้เป็นช่วงค่าขนาดรูรับแสงที่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับกำลังขยาย ขนาดของซับเจกต์และระยะห่างของฉากหลังกับซับเจกต์ หากไม่แน่ใจก็ต้องกดปุ่มชัดลึกเพื่อดูผลของระยะชัดที่แท้จริงก่อนกดชัดเตอร์ เพื่อถ่ายภาพ
การควบคุมฉากหลัง
การถ่ายภาพมาโครที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศสิ่งแวดล้อม ก็ต้องเลือกเก็บรายละเอียดของฉากหลังมาด้วย เลนส์ไวด์ที่มีระยะโฟกัสใกล้สุดนั้น จะมีกำลังขยายสูง ถ่ายภาพได้กำลังขยาย 1:3-4 ก็เหมาะกับการถ่ายภาพแบบโคลสอัพเพื่อเก็บฉากหลัง
เทคนิคในการถ่ายภาพมาโครให้ฉากหลังเข้มดำนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่ที่จะแนะนำคือการเลือกฉากหลังที่มีค่าแสงแตกต่างจากซับเจกต์มาก ๆ ปรับมุมถ่ายภาพดูสักครู่ก็จะเห็นว่ามีฉากหลังบางส่วนที่ไม่ได้รับแสง ความเหรียบต่างแสงที่สูงเกินกว่ากันราว 2 สตอป เมื่อถ่ายภาพด้วยค่าแสงที่ตกลงบนซับเจกต์ก็จะทำให้ฉากหลังเข้มดำได้เอง
นอกจากนี้ การถ่ายภาพในทิสทางแบบย้อนแสง แสงเฉียงหลังหรือข้าง ก็จะได้ภาพฉากหลังเข้ม ๆ ถ้าหากสภาพแสงไม่เอื้ออำนวย แล้วอยากได้ฉากหลังที่เข้มดำ การใช้ฉากหลังสีดำอย่างกระดาษดำด้าน ผ้ากำมะหยี่แล้วนำไปวางไว้ให้ห่างจากซับเจกต์สักหน่อยก็เป็นวิธีที่ใช้กันมา แต่ไหนแต่ไร
อีกวิธีหนึ่งของการควบคุมฉากหลังให้เข้มดำคือ การใช้แสงแฟลชเป็นแสงหลักในการถ่ายภาพ ซับเจกต์ได้รับแสงแฟลช ส่วนฉากหลังที่ห่างออกไปก็จะเข้มดำลงไปเอง
การใช้แฟลชในการถ่ายภาพมาโคร
การใช้แฟลชกับการถ่ายภาพมาโครมีข้อควรระวังหลายประการ ซึ่งแตกต่างไปกับการใช้แฟลชถ่ายภาพในระยะปกติ เนื่องจากการถ่ายภาพมาโครเป็นการถ่ายภาพในระยะใกล้มาก แฟลชที่ติดตั้งอยู่บน Hot Shoe ของกล้องอาจทำให้องศาในการยิงแสงแฟลชไม่ครอบคลุมพื้นที่ถ่ายภาพ เพราะเลนส์อาจบังแสงแฟลช ต้องปรับกดมุมของแฟลช แต่ถ้าถ่ายภาพใกล้มากๆ ก็จะยังไม่สามารถยิงแสงได้ครอบคลุมอยู่ดี
การแก้ไขคือ การใช้สายซิงค์แยกแฟลชออกนอกตัวกล้อง เพื่อเปิดมุมในการยิงแสงแฟลชได้กว้างมากขึ้น โดยที่แฟลชยังมีการทำงานในระบบ TTL เลนส์มาโครทางยาวโฟกัส 50-60 mm มีระยะห่างระหว่างซับเจกต์กับหน้าเลนส์ที่สั้นมาก เมื่อถ่ายภาพที่กำลังขยาย 1:1 หน้าเลนส์เกือบชิดติดกับซับเจกต์เป็นอุปสรรคในการใช้แสงแฟลชอย่างมาก
ส่วนเลนส์มาโครทางยาวโฟกัส 90-105mm มีระยะห่างใกล้สุดโดยเฉลี่ยที่ 10-14 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะห่างที่เพียงพอกับที่เปิดมุมให้ยิงแสงแฟลชได้ง่ายกว่า เป็นอีกหนึ่งเหตุผลของความนิยมในการเลือกใช้เลนส์มาโครทางยาวโฟกัส 90-105mm
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการใช้แฟลชในการถ่ายภาพก็คือ แฟลชยิงแสงโอเวอร์ เนื่องจากระยะการทำงานที่ใกล้มาก ทำให้แฟลชที่มีระบบการทำงานแบบ TTL มักยิงแฟลชผิดพลาดโอเวอร์กว่าพอดี ถ้าใช้ขนาดรูรับแสงกว้าง กำลังไฟที่ถูกยิงออกไป ระบบการคำนวณจะปิดการรับแสงแฟลชไม่ทัน การแก้ไขคือ ต้องใช้ขนาดรูรับแสงแคบ ๆ f/11 ขึ้นไป
นอกจากนี้ การใช้การแบ่งกำลังไฟแฟลชแบบแมนนวลก็ได้ผลดีเช่นกัน ปรับกำลังไฟให้เหมาะสมกับขนาดรูรับแสง และต้องไม่ลืมว่าจะเสียแสงไปกับการถ่ายภาพด้วยกำลังขยายสูงด้วย
เทคนิคการสร้างสรรค์ภาพมาโคร
ภาพมาโครเป็นการถ่ายภาพที่เปิดโอกาสให้นักถ่ายภาพได้คิดทดลองเทคนิคการถ่ายภาพต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะกับแสงแฟลช เพราะพื้นที่แคบควบคุมแสงได้ง่าย การใช้แฟลชแยกออกนอกตัวกล้อง และเพิ่มแฟลชมากกว่า 1 ตัว ก็จะยิ่งได้ภาพที่ใสเคลียร์ ไม่มีเงาได้
นอกจากแฟลชที่ใช้จัดแสงมากกว่า 1 ตัวแล้ว การจัดแสงด้วยไฟต่อเนื่องอย่างไฟฉายขนาดเล็กที่มีกำลังไฟใฟ้ความสว่างสูงและมีสีขาวก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้งานได้ดี หรือใช้กระจกเงาสะท้อนแสงเข้าไปในเบริเวณที่ต้องการ หรือจะลงทุนกับแฟลชแบบ Ring Flash หรือแฟลชที่ออกแบบสำหรับการถ่ายภาพมาโครโดยเฉพาะ ซึ่งมีราคาไม่ถูกเลย เพิ่มเงินอีกนิดซื้อแฟลชสองตัวใช้ดีกว่า
ในการถ่ายภาพดอกไม้ให้บรรยากาศดูชุ่มฉ่ำ ก็อาจใช้สเปรย์ขนาดเล็กที่ฉีดละอองน้ำได้ละเอียด เพิ่มความชุ่มฉ่ำ หรือเพิ่มขนาด Texture ของเส้นใยแมงมุมขนอ่อนบนดอกไม้ได้ดี
เทคนิคในการถ่ายภาพวัตถุ สินค้าขนาดเล็กหรือพระเครื่อง ก็เป็นหนึ่งในการถ่ายภาพมาโครเช่นกัน ใช้แผ่นกระจกใส หรืออะคริลิคก็ได้ วางพาดให้สูงจากพื้นราว 0.5-1 เมตร เอาฉากหลังสีที่ต้องการอย่างผ้ากำมะหยี่หรือกระดาษวางไว้ด้านล่าง ระยะห่างข้างต้นจะทำให้ฉากหลังไม่มีรายละเอียด มีแต่สี วางวัตถุที่ต้องการถ่ายบงบนกระจก อาจใช้แสงธรรมชาติ แฟลชหรือหลอดไฟเป็นแหล่งกำเนิดแสงก็ได้ ระวังการสะท้อนของแสงกระจก และปรับค่าสมดุลแสงสีขาวให้ถูกต้อง ตั้งกล้องในมุมที่ตั้งฉากกับกระจก จัดองค์ประกอบภาพอยู่บนฉากหลังแล้วถ่ายภาพ เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่ได้ผลดีกับการถ่ายภาพพระเครื่อง
อุปกรณ์ที่ควรมี
- อุปกรณ์อื่น ๆ นอกเหนือไปจากเลนส์มาโคร กล้องหรืออุปกรณ์เสริมที่ใช้เพิ่มกำลังขยายในการถ่ายภาพมาโครที่ควรมีใช้คือ ฟิลเตอร์ C-PL คุณสมบัติของฟิลเตอร์ C-PL คือการตัดแสงสะท้อน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงสีจริงของวัตถุนั้น
- การถ่ายภาพมาโครในธรรมชาติ ฟิลเตอร์ C-PL จะช่วยลดแสงสะท้อนของใบไม้ เพิ่มความอิ่มสีของซับเจกต์ได้ดีมาก ข้อเสียเพียงอย่างเดียวคือ การเสียแสงไปราว 2 สตอป
- สายลั่นชัตเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้การกดชัตเตอร์สะดวกขึ้น กล้องนิ่งไม่ขยับ เพราะการขยับแม้เพียงนิดเดียวก็อาจทำให้ได้ภาพที่ไม่คมชัด บางท่านอาจซีเรียสกับการลั่นชัตเตอร์มากจนต้องใช้การล็อกกระจกสะท้อนภาพร่วมด้วย ซึ่งถ้าหากทำได้ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงที่จะทำให้ภาพสั่นไหวได้มาก
- ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการถ่ายภาพมาโครเบื้องต้น เพราะเมื่อคุณถ่ายภาพมาโครในธรรมชาติ สิ่งที่คุณจะต้องเรียนรู้ก็จะตามมา การค้นซับเจกต์ เทคนิคในการเข้าใกล้ ประกอบกับความอดทน ความพยายามในการถ่ายภาพและที่สำคัญคือต้องรู้จักที่จะรอ
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก : http://www.moe.go.th/webhr/index.php?option=com_content&view=article&id=79:macrophotography&catid=29:generalcontent&Itemid=37
ขอบคุณภาพสวยๆจาก : http://www.the-than.com/Gallery/ZphotoZ/21.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น